วันศุกร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ความสัมพันธ์ในทางกฎหมายระหว่างราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น

ความสัมพันธ์ในทางกฎหมาย
         
          เป็นเรื่องการบังคับบัญชาและการกำกับดูแล

          1.1   ความสัมพันธ์ในลักษณะการบังคับบัญชา

                  เป็นความสัมพันธ์ภายในนิติบุคคลเพียงนิติบุคคลเดียว ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ในระบบการรวมอำนาจ ลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งคือ การติดต่อสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินการปกครองต่างๆ ตามลำดับ โดย อำนาจของผู้บังคับบัญชาอาจจำแนกได้ คือ

                  (ก)   อำนาจในการออกคำสั่งให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาปฏิบัติ

                  (ข)   อำนาจควบคุมกิจการที่ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาปฏิบัติ

                  (ค)   อำนาจที่จะลงโทษทางวินัยแก่ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา

                  (ง)   อำนาจที่จะให้บำเหน็จความดีความชอบแก่ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา

                  ความสัมพันธ์ในลักษณะนี้ โดยปกติจึงเป็นความสัมพันธ์ระหว่างส่วนกลางกับส่่วนภูมิภาค แต่ก็มีบางกรณีที่กฎหมายกำหนดให้ส่วนกลางและส่วนภูมิภาคมีความสัมพันธ์ในเชิงบังคับบัญชาเหนือส่วนท้องถิ่นเท่าที่กฎหมายบัญญัติไว้

          1.2   ความสัมพันธ์ในลักษณะการกำกับดูแล

                  ก.   การกำกับดูแลเป็นความสัมพันธ์ระหว่างส่วนกลางส่วนภูมิภาคกับส่วนท้องถิ่น การกำกับดูแลแตกต่างกับการบังคับบัญชาเพราะการกำกับดูแลเป็นความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรสององค์กร ซึ่งต่างก็เป็นนิติบุคคล และต่างก็มีผลประโยชน์ของตนเองที่จะต้องดูแล เป็นความสัมพันธ์ระหว่างส่วนกลางกับท้องถิ่น หรือส่วนภูมิภาคกับท้องถิ่น

                  ข.   ลักษณะของการกำกับดูแล ผู้มีอำนาจกำกับดูแลมีอำนาจเท่าที่กฎหมายให้อำนาจหน้าที่อย่างชัดแจ้ง และการใช้อำนาจต้องใช้เท่าที่จำเป็น โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญอยู่ที่การตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของท้องถิ่น ผู้ใช้อำนาจกำกับดูแลไม่มีอำนาจในการควบคุมความเหมาะสมของการกระทำขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การกำกับดูแลสามารถแยกพิจารณาได้ 2 กรณี คือ การกำกับดูแลโดยตรง กับ การกำกับดูแลโดยอ้อม

การกำกับดูแลโดยตรง

          แยกเป็น 2 กรณีด้วยกัน คือ

          การกำกับดูแลตัวบุคคลหรือองค์กร ได้แก่ การที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นว่าคณะผู้บริหารท้องถิ่น ปฏิบัติการฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน ละเลยไม่ปฏิบัติ หรือปฏิบัติโดยมิชอบด้วยอำนาจหน้าที่ ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจเสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีพร้อมด้วยหลักฐาน รัฐมนตรีอาจสั่งให้คณะผู้บริหารท้องถิ่นออกจากตำแหน่งได้หรือ รัฐมนตรีมีอำนาจสั่งยุบสภาท้องถิ่นเพื่อให้เลือกตั้งใหม่ โดยพิจารณาสองกรณี คือ กรณีที่เกิดความขัดแย้งระหว่างสภากับผู้บริหารท้องถิ่น และ กรณีที่การดำเนินงานของท้องถิ่นเป็นไปในทางที่ไม่ถูกต้อง และ

          การกำกับดูแลการกระทำ คือ การให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบต่อการกระทำขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ งบประมาณต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้ว่าราชการจังหวัดและการทำกิจการนอกเขตการปกครองท้องถิ่นได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรี

การกำกับดูแลโดยอ้อม

          แยกเป็น 2 กรณีเช่นกัน คือ

         การให้เงินอุดหนุนทุกปี ราชการบริหารส่วนกลางจะจัดสรรเงินอุดหนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยจะจัดสรรเป็นเงินอุดหนุนทั่วไปกับเงินอุดหนุุนเฉพาะกิจซึ่งเงินอุดหนุนเฉพาะกิจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอิสระที่จะขอรับหรือไม่ก็ได้

          การใช้สัญญามาตรฐาน คือ สัญญาที่นิติบุคคลทางกฎหมายมหาชนหรือกฎหมายแพ่งกระทำขึ้น โดยแบบของสัญญาถูกกำหนดขึ้นโดยบุคคลที่สาม จึงเท่ากับถูกจำกัดอำนาจ และการริเริ่มสร้างสรรค์ในการกำหนดรายละเอียดทางสัญญานั่นเอง
         
          ที่มา (มณเฑียร เจริญผล, การตรวจสอบการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยการควบคุมของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (นนทบุรี: สถาบันพระปกเกล้า), 2550)
         

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น