วันเสาร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2555

การจัดทำบริการสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

          ในการจัดทำบริการสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีที่มาแห่งอำนาจจากกฎหมาย 3 ประเภทคือ
         
          1. กฎหมายเกี่ยวกับการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

          2. กฎหมายที่กำหนดให้บุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใช้บังคับกฎหมายตามเขตอำนาจหรือในเขตพื้นที่รับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นๆ และ

          3. การถ่ายโอนภารกิจหรือการมอบหมายภารกิจจากองค์กรภาครัฐต่างๆ ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่
               - กฎหมายเกี่ยวกับการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น กฎหมายระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประเภทต่างๆ ได้แก่ กฎหมายจัดตั้งกรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา องค์การบริหารส่วนตำบล องค์การบริหารส่วนจังหวัด และเทศบาล
               - กฎหมายที่กำหนดให้บุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายนั้นๆ เช่น กฎหมายควบคุมอาคาร
               - การมอบหมายอำนาจหน้าที่หรือการถ่ายโอนภารกิจจากองค์กรภาครัฐต่างๆ เช่น แต่เดิมกระทรวงมหาดไทยได้มอบหมายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่ดูแลรักษาคุ้มครองที่ดินรกร้างว่างเปล่า หรือกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชย์นาวี (กรมเจ้าท่าเดิม) มอบหมายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจดำเนินการบางประการเกี่ยวกับทางน้ำ และต่อมาก็ได้มีการถ่ายโอนภารกิจต่างๆ ที่เคยมอบอำนาจให้องค์กรปกกครองส่วนท้องถิ่น ดังเช่น กรมการปกครองและกรมที่ดินถ่ายโอนภารกิจเกี่ยวกับที่สาธารณะประโยชน์ประเภทพลเมืองใช้ร่วมกันและที่ดินรกร้างว่างเปล่าให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามลำดับตามกฎหมายว่าด้วยการกำหนดแผนและขั้นตอนกระจายอำนาจ

องค์ประกอบของ ก.พ. (คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน)

องค์ประกอบของ ก.พ. ตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551

          เดิมองค์ประกอบของ ก.พ. จะประกอบด้วยกรรมการโดยตำแหน่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และกรรมการผู้แทนข้าราชการซึ่งได้รับการคัดเลือกจำนวนห้าคน
          องค์ประกอบของ ก.พ. ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ประกอบด้วยกรรมการโดยตำแหน่งและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ โดยมีเลขาธิการ ก.พ. เป็นกรรมการและเลขานุการเท่านั้น ไม่มีกรรมการผู้แทนข้าราชการ ทั้งนี้ เนื่องจากได้มีการถ่ายโอนอำนาจในการพิจารณาเกี่ยวกับกระบวนการบริหารงานบุคคลส่วนใหญ่ไปไว้ที่ส่วนราชการแล้ว ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องมีกรรมการผู้แทนข้าราชการใน ก.พ. อีกต่อไป
          เมื่อตัดกรรมการผู้แทนข้าราชการออกไปเสียจากองค์ประกอบของ ก.พ. แล้ว ทำให้จำนวน ก.พ. ลดลงไปห้าคน เหลือเพียงจำนวนกรรมการโดยตำแหน่งห้าคน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลด้านการบริหารและการจัดการและด้านกฎหมาย จำนวนไม่น้อยกว่าห้าคน แต่ไม่เกินเจ็ดคน
          องค์ประกอบของ ก.พ. จึงมีจำนวนกรรมการอย่างน้อยสิบคน แต่ไม่เกินสิบสองคน

วันศุกร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ความสัมพันธ์ในทางกฎหมายระหว่างราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น

ความสัมพันธ์ในทางกฎหมาย
         
          เป็นเรื่องการบังคับบัญชาและการกำกับดูแล

          1.1   ความสัมพันธ์ในลักษณะการบังคับบัญชา

                  เป็นความสัมพันธ์ภายในนิติบุคคลเพียงนิติบุคคลเดียว ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ในระบบการรวมอำนาจ ลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งคือ การติดต่อสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินการปกครองต่างๆ ตามลำดับ โดย อำนาจของผู้บังคับบัญชาอาจจำแนกได้ คือ

                  (ก)   อำนาจในการออกคำสั่งให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาปฏิบัติ

                  (ข)   อำนาจควบคุมกิจการที่ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาปฏิบัติ

                  (ค)   อำนาจที่จะลงโทษทางวินัยแก่ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา

                  (ง)   อำนาจที่จะให้บำเหน็จความดีความชอบแก่ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา

                  ความสัมพันธ์ในลักษณะนี้ โดยปกติจึงเป็นความสัมพันธ์ระหว่างส่วนกลางกับส่่วนภูมิภาค แต่ก็มีบางกรณีที่กฎหมายกำหนดให้ส่วนกลางและส่วนภูมิภาคมีความสัมพันธ์ในเชิงบังคับบัญชาเหนือส่วนท้องถิ่นเท่าที่กฎหมายบัญญัติไว้

          1.2   ความสัมพันธ์ในลักษณะการกำกับดูแล

                  ก.   การกำกับดูแลเป็นความสัมพันธ์ระหว่างส่วนกลางส่วนภูมิภาคกับส่วนท้องถิ่น การกำกับดูแลแตกต่างกับการบังคับบัญชาเพราะการกำกับดูแลเป็นความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรสององค์กร ซึ่งต่างก็เป็นนิติบุคคล และต่างก็มีผลประโยชน์ของตนเองที่จะต้องดูแล เป็นความสัมพันธ์ระหว่างส่วนกลางกับท้องถิ่น หรือส่วนภูมิภาคกับท้องถิ่น

                  ข.   ลักษณะของการกำกับดูแล ผู้มีอำนาจกำกับดูแลมีอำนาจเท่าที่กฎหมายให้อำนาจหน้าที่อย่างชัดแจ้ง และการใช้อำนาจต้องใช้เท่าที่จำเป็น โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญอยู่ที่การตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของท้องถิ่น ผู้ใช้อำนาจกำกับดูแลไม่มีอำนาจในการควบคุมความเหมาะสมของการกระทำขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การกำกับดูแลสามารถแยกพิจารณาได้ 2 กรณี คือ การกำกับดูแลโดยตรง กับ การกำกับดูแลโดยอ้อม

การกำกับดูแลโดยตรง

          แยกเป็น 2 กรณีด้วยกัน คือ

          การกำกับดูแลตัวบุคคลหรือองค์กร ได้แก่ การที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นว่าคณะผู้บริหารท้องถิ่น ปฏิบัติการฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน ละเลยไม่ปฏิบัติ หรือปฏิบัติโดยมิชอบด้วยอำนาจหน้าที่ ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจเสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีพร้อมด้วยหลักฐาน รัฐมนตรีอาจสั่งให้คณะผู้บริหารท้องถิ่นออกจากตำแหน่งได้หรือ รัฐมนตรีมีอำนาจสั่งยุบสภาท้องถิ่นเพื่อให้เลือกตั้งใหม่ โดยพิจารณาสองกรณี คือ กรณีที่เกิดความขัดแย้งระหว่างสภากับผู้บริหารท้องถิ่น และ กรณีที่การดำเนินงานของท้องถิ่นเป็นไปในทางที่ไม่ถูกต้อง และ

          การกำกับดูแลการกระทำ คือ การให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบต่อการกระทำขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ งบประมาณต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้ว่าราชการจังหวัดและการทำกิจการนอกเขตการปกครองท้องถิ่นได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรี

การกำกับดูแลโดยอ้อม

          แยกเป็น 2 กรณีเช่นกัน คือ

         การให้เงินอุดหนุนทุกปี ราชการบริหารส่วนกลางจะจัดสรรเงินอุดหนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยจะจัดสรรเป็นเงินอุดหนุนทั่วไปกับเงินอุดหนุุนเฉพาะกิจซึ่งเงินอุดหนุนเฉพาะกิจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอิสระที่จะขอรับหรือไม่ก็ได้

          การใช้สัญญามาตรฐาน คือ สัญญาที่นิติบุคคลทางกฎหมายมหาชนหรือกฎหมายแพ่งกระทำขึ้น โดยแบบของสัญญาถูกกำหนดขึ้นโดยบุคคลที่สาม จึงเท่ากับถูกจำกัดอำนาจ และการริเริ่มสร้างสรรค์ในการกำหนดรายละเอียดทางสัญญานั่นเอง
         
          ที่มา (มณเฑียร เจริญผล, การตรวจสอบการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยการควบคุมของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (นนทบุรี: สถาบันพระปกเกล้า), 2550)
         

วันพฤหัสบดีที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ระบบกฎหมายโรมาโน-เยอรมันนิค (Romano Germanic)

          คำว่า "โรมาโน" หมายถึง กรุงโรมซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศอิตาลี ส่วนคำว่า "เยอรมันนิค" หมายถึง ชาวเยอรมัน ดังนั้นการที่ตั้งชื่อระบบกฎหมายเช่นนี้ก็เพื่อเป็นเกียรติแก่ประเทศทั้งสอง เนื่องจากอิตาลีเป็นชาติแรกที่รื้อฟื้นกฎหมายโรมันในอดีตขึ้นมาใหม่หลังจากที่ล่มสลายไปพร้อมกับอาณาจักรโรมัน ครั้นศตวรรษที่ 11 ประมาณปี ค.ศ. 1110 ประเทศอิตาลีเริ่มมีการพัฒนาประเทศทำให้มีการค้าขายมากขึ้น รวมทั้งการค้าระหว่างประเทศ ระบบเศรษฐกิจเจริญรุ่งเรืองขึ้น กฎหมายท้องถิ่นซึ่งเดิมใช้บังคับไม่เพียงพอที่จะนำมาใช้บังคับกับข้อเท็จจริงในระบบเศรษฐกิจที่มีความยุ่งยากสลับซับซ้อน จึงได้มีการฟื้นฟูกฎหมายโรมัน โดยมีการนำมาศึกษาเล่าเรียนอย่างจริงจังในมหาวิทยาลัยที่เมือง โบลอกนา (Bologna) ปรากฎว่ากฎหมายโรมันมีบทบัญญัติที่สามารถใช้แก้ปัญหานิติสัมพันธ์ที่มีความยุ่งยากซับซ้อนได้ และเห็นว่ากฎหมายโรมันใช้ได้และเป็นธรรม ประมวลกฎหมายจัสติเนียนจึงได้ถูกถ่ายทอดให้แก่นักศึกษากฎหมายและรับเอากฎหมายโรมันมาบัญญัติใช้บังคับในเวลาต่อมา เยอรมันเป็นประเทศที่สองได้รับเอากฎหมายโรมันมาใช้เช่นเดียวกับอิตาลี ต่อมาประเทศต่างๆ ในยุโรป ฝรั่งเศส โปรตุเกส ออสเตรีย เนเธอร์แลนด์ สเปน สวิส ได้ดำเนินรอยตาม จึงเห็นได้ว่าระบบกฎหมายโรมาโนเยอรมันนิคมีต้นกำเนิดจากประเทศในภาคพื้นยุโรป แต่ปัจจุบันระบบกฎหมายนี้มีอิทธิพลแผ่ขยายไปทั่วโลกในทวีปต่างๆ ไม่ว่าทวีปอเมริกาใต้ เช่น บราซิล เพราะเคยอยู่ภายใต้การปกครองของโปรตุเกส หรือเม็กซิโก ชิลี เปรู อาร์เจนตินา ที่เคยเป็นอาณานิคมของสเปน แม้กระทั่งประเทศในทวีปแอฟริกา เช่น ซาอีร์ โซมาเลีย รวันดา ซึ่งเคยเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส ก็ได้รับอิทธิพลของระบบกฎหมายโรมาโนเยอรมันนิคทั้งสิ้น รวมทั้งประเทศแถบเอเชียบางประเทศ เช่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ แม้กระทั่งประเทศที่ไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของใครอย่างไทยหรือญี่ปุ่นก็ตาม
          อย่างไรก็ดี มีผู้เห็นว่าหากจะยกย่องหรือให้เกียรติ ควรให้เกียรติกฎหมายโรมัน ซึ่งในสมัยนั้นใช้บังคับได้เฉพาะชาวโรมัน ในทางกฎหมายจึงมีศัพท์กฎหมายเรียกันว่า Jus Civil หรือ Civil Law หมายถึงกฎหมายที่ใช้ได้กับชาวโรมันหรือต้นกำเนิดของกฎหมายโรมันแท้ๆ คำว่า Civil Law ได้กลายมาเป็นชื่อระบบกฎหมายซึ่งเป็นชื่อที่นิยมแพร่หลายมากกว่า Romano Germanic
          แต่เมื่อพิจารณากฎหมายโรมันจะเห็นได้ว่ามีการเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร เหตุนี้เองจึงมีผู้เรียกระบบกฎหมายนี้อีกชื่อหนึ่งว่า Written Law อีกทั้งประเทศต่างๆ ที่นำเอากฎหมายโรมันไปบัญญัติใช้ในประเทศของตน ได้มีการจัดทำกฎหมายในรูปประมวลกฎหมาย (Code) จึงมีผู้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า Codifide Law ซึ่งระบบกฎหมายนี้ส่วนใหญ่ได้บัญญัติไว้เป็นประมวลนั่นเอง

วันพุธที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2555

AEC คืออะไร

AEC คือ (ASEAN Economic Community)

          การรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนภายในปี 2558 มีเป้าหมายให้อาเซียนเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกันและมีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน และแรงงานมีฝีมืออย่างเสรี และมีการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่เสรียิ่งขึ้น โดยมีแผนงานการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community Blueprint) เป็นแผนบูรณาการการดำเนินงานให้ด้านเศรษฐกิจเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ 4 ด้าน คือ
          1. การเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียว โดยจะมีการลดภาษีนำเข้าสินค้าในอาเซียนลงเหลือ 0-5% เป็นเสรีธุรกิจบริการให้นักลงทุนอาเซียนสามารถถือหุ้นได้ 70% ยกเลิกมาตรการที่มิใช่ภาษีและอุปสรรคในการประกอบธุรกิจบริการ ส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนของนักลงทุนอาเซียน ตลอดจนอำนวยความสะดวกในการเดินทางของบุคคลสัญชาติอาเซียน ในการค้าการลงทุน และการประกอบวิชาชีพชั้นสูง เปิดตลาดภาคบริการและเปิดเสรีการลงทุนภายในปี 2558 และเปิดเสรีการลงทุนภายในปี 2553
          2. การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของอาเซียน โดยให้ความสำคัญกับประเด็นด้านนโยบายที่จะช่วยส่งเสริมการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ เช่น นโยบายการแข่งขัน การคุ้มครองผู้บริโภค สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ นโยบายภาษี และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (การเงิน การขนส่ง เทคโนโลยีสารสนเทศ และพลังงาน)
          3. การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเสมอภาค ให้มีการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และการเสริมสร้างขีดความสามารถผ่านโครงการต่างๆ เช่น ข้อริเริ่มเพื่อการรวมตัวของอาเซียน (Initiative for ASEAN Integration-IAI) เป็นต้น เพื่อลดช่องว่างการพัฒนาทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศสมาชิก และ
          4. การบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลก เน้นการปรับประสานนโยบายเศรษฐกิจของอาเซียนกับประเทศภายนอกภูมิภาค เพื่อให้อาเซียนมีท่าทีร่วมกันอย่างชัดเจน เช่น การจัดทำเขตการค้าเสรีของอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาต่างๆ เป็นต้น รวมทั้งส่งเสริมการสร้างเครือข่ายในด้านการผลิต/จำหน่ายภายในภูมิภาคให้เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลก