วันเสาร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2555

การจัดทำบริการสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

          ในการจัดทำบริการสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีที่มาแห่งอำนาจจากกฎหมาย 3 ประเภทคือ
         
          1. กฎหมายเกี่ยวกับการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

          2. กฎหมายที่กำหนดให้บุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใช้บังคับกฎหมายตามเขตอำนาจหรือในเขตพื้นที่รับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นๆ และ

          3. การถ่ายโอนภารกิจหรือการมอบหมายภารกิจจากองค์กรภาครัฐต่างๆ ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่
               - กฎหมายเกี่ยวกับการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น กฎหมายระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประเภทต่างๆ ได้แก่ กฎหมายจัดตั้งกรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา องค์การบริหารส่วนตำบล องค์การบริหารส่วนจังหวัด และเทศบาล
               - กฎหมายที่กำหนดให้บุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายนั้นๆ เช่น กฎหมายควบคุมอาคาร
               - การมอบหมายอำนาจหน้าที่หรือการถ่ายโอนภารกิจจากองค์กรภาครัฐต่างๆ เช่น แต่เดิมกระทรวงมหาดไทยได้มอบหมายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่ดูแลรักษาคุ้มครองที่ดินรกร้างว่างเปล่า หรือกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชย์นาวี (กรมเจ้าท่าเดิม) มอบหมายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจดำเนินการบางประการเกี่ยวกับทางน้ำ และต่อมาก็ได้มีการถ่ายโอนภารกิจต่างๆ ที่เคยมอบอำนาจให้องค์กรปกกครองส่วนท้องถิ่น ดังเช่น กรมการปกครองและกรมที่ดินถ่ายโอนภารกิจเกี่ยวกับที่สาธารณะประโยชน์ประเภทพลเมืองใช้ร่วมกันและที่ดินรกร้างว่างเปล่าให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามลำดับตามกฎหมายว่าด้วยการกำหนดแผนและขั้นตอนกระจายอำนาจ

องค์ประกอบของ ก.พ. (คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน)

องค์ประกอบของ ก.พ. ตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551

          เดิมองค์ประกอบของ ก.พ. จะประกอบด้วยกรรมการโดยตำแหน่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และกรรมการผู้แทนข้าราชการซึ่งได้รับการคัดเลือกจำนวนห้าคน
          องค์ประกอบของ ก.พ. ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ประกอบด้วยกรรมการโดยตำแหน่งและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ โดยมีเลขาธิการ ก.พ. เป็นกรรมการและเลขานุการเท่านั้น ไม่มีกรรมการผู้แทนข้าราชการ ทั้งนี้ เนื่องจากได้มีการถ่ายโอนอำนาจในการพิจารณาเกี่ยวกับกระบวนการบริหารงานบุคคลส่วนใหญ่ไปไว้ที่ส่วนราชการแล้ว ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องมีกรรมการผู้แทนข้าราชการใน ก.พ. อีกต่อไป
          เมื่อตัดกรรมการผู้แทนข้าราชการออกไปเสียจากองค์ประกอบของ ก.พ. แล้ว ทำให้จำนวน ก.พ. ลดลงไปห้าคน เหลือเพียงจำนวนกรรมการโดยตำแหน่งห้าคน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลด้านการบริหารและการจัดการและด้านกฎหมาย จำนวนไม่น้อยกว่าห้าคน แต่ไม่เกินเจ็ดคน
          องค์ประกอบของ ก.พ. จึงมีจำนวนกรรมการอย่างน้อยสิบคน แต่ไม่เกินสิบสองคน