วันพฤหัสบดีที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ระบบกฎหมายโรมาโน-เยอรมันนิค (Romano Germanic)

          คำว่า "โรมาโน" หมายถึง กรุงโรมซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศอิตาลี ส่วนคำว่า "เยอรมันนิค" หมายถึง ชาวเยอรมัน ดังนั้นการที่ตั้งชื่อระบบกฎหมายเช่นนี้ก็เพื่อเป็นเกียรติแก่ประเทศทั้งสอง เนื่องจากอิตาลีเป็นชาติแรกที่รื้อฟื้นกฎหมายโรมันในอดีตขึ้นมาใหม่หลังจากที่ล่มสลายไปพร้อมกับอาณาจักรโรมัน ครั้นศตวรรษที่ 11 ประมาณปี ค.ศ. 1110 ประเทศอิตาลีเริ่มมีการพัฒนาประเทศทำให้มีการค้าขายมากขึ้น รวมทั้งการค้าระหว่างประเทศ ระบบเศรษฐกิจเจริญรุ่งเรืองขึ้น กฎหมายท้องถิ่นซึ่งเดิมใช้บังคับไม่เพียงพอที่จะนำมาใช้บังคับกับข้อเท็จจริงในระบบเศรษฐกิจที่มีความยุ่งยากสลับซับซ้อน จึงได้มีการฟื้นฟูกฎหมายโรมัน โดยมีการนำมาศึกษาเล่าเรียนอย่างจริงจังในมหาวิทยาลัยที่เมือง โบลอกนา (Bologna) ปรากฎว่ากฎหมายโรมันมีบทบัญญัติที่สามารถใช้แก้ปัญหานิติสัมพันธ์ที่มีความยุ่งยากซับซ้อนได้ และเห็นว่ากฎหมายโรมันใช้ได้และเป็นธรรม ประมวลกฎหมายจัสติเนียนจึงได้ถูกถ่ายทอดให้แก่นักศึกษากฎหมายและรับเอากฎหมายโรมันมาบัญญัติใช้บังคับในเวลาต่อมา เยอรมันเป็นประเทศที่สองได้รับเอากฎหมายโรมันมาใช้เช่นเดียวกับอิตาลี ต่อมาประเทศต่างๆ ในยุโรป ฝรั่งเศส โปรตุเกส ออสเตรีย เนเธอร์แลนด์ สเปน สวิส ได้ดำเนินรอยตาม จึงเห็นได้ว่าระบบกฎหมายโรมาโนเยอรมันนิคมีต้นกำเนิดจากประเทศในภาคพื้นยุโรป แต่ปัจจุบันระบบกฎหมายนี้มีอิทธิพลแผ่ขยายไปทั่วโลกในทวีปต่างๆ ไม่ว่าทวีปอเมริกาใต้ เช่น บราซิล เพราะเคยอยู่ภายใต้การปกครองของโปรตุเกส หรือเม็กซิโก ชิลี เปรู อาร์เจนตินา ที่เคยเป็นอาณานิคมของสเปน แม้กระทั่งประเทศในทวีปแอฟริกา เช่น ซาอีร์ โซมาเลีย รวันดา ซึ่งเคยเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส ก็ได้รับอิทธิพลของระบบกฎหมายโรมาโนเยอรมันนิคทั้งสิ้น รวมทั้งประเทศแถบเอเชียบางประเทศ เช่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ แม้กระทั่งประเทศที่ไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของใครอย่างไทยหรือญี่ปุ่นก็ตาม
          อย่างไรก็ดี มีผู้เห็นว่าหากจะยกย่องหรือให้เกียรติ ควรให้เกียรติกฎหมายโรมัน ซึ่งในสมัยนั้นใช้บังคับได้เฉพาะชาวโรมัน ในทางกฎหมายจึงมีศัพท์กฎหมายเรียกันว่า Jus Civil หรือ Civil Law หมายถึงกฎหมายที่ใช้ได้กับชาวโรมันหรือต้นกำเนิดของกฎหมายโรมันแท้ๆ คำว่า Civil Law ได้กลายมาเป็นชื่อระบบกฎหมายซึ่งเป็นชื่อที่นิยมแพร่หลายมากกว่า Romano Germanic
          แต่เมื่อพิจารณากฎหมายโรมันจะเห็นได้ว่ามีการเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร เหตุนี้เองจึงมีผู้เรียกระบบกฎหมายนี้อีกชื่อหนึ่งว่า Written Law อีกทั้งประเทศต่างๆ ที่นำเอากฎหมายโรมันไปบัญญัติใช้ในประเทศของตน ได้มีการจัดทำกฎหมายในรูปประมวลกฎหมาย (Code) จึงมีผู้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า Codifide Law ซึ่งระบบกฎหมายนี้ส่วนใหญ่ได้บัญญัติไว้เป็นประมวลนั่นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น